Web Blog การเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ประกอบการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ (สาระเพิ่ม) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ส 22102 และ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส 23102 ครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา ในการฝึกทักษะเรียนรู้พื้นฐาน การจัดการความรู้ ทักษะภาษาดิจิตอล ทักษะการรู้คิดประดิษฐ์สร้าง ทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การสื่อสารที่มีประสิทธิผล ทักษะการสืบค้น ฯลฯ เพื่อพัฒนาไปสู่ทักษะความรู้ที่มุ่งหวังของหลักสูตร โรงเรียนมาตรฐานสากล 6 ประการ ประกอบด้วย (1) ทักษะการเรียนรู้ Learning Skills (2) ทักษะการคิด Thinking Skills (3) ทักษะการแก้ปัญหา Problerm Skills (4) ทักษะชีวิต Life Skills (5) ทักษะการใช้เทคโนโลยี Technology Skills (6) ทักษะการสื่อสาร Communication Skills ทฤษฎีระบบการเรียน KM (Knowlead Maneagement) โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม (Word Class Standard)

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หน่วยการเรียนรู้ที่8

หลักฐานทางประวัติศาสตร์


หลักฐานทางประวัติศาสตร์

            แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในการศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแต่ละยุคสมัยอาจจำแนกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ หลักฐานที่เป็นตัวหนังสือโดยมนุษย์ได้ทิ้งร่องรอยขีดเขียนเป็นตัวหนังสือประเภทต่างๆ ในรูปของการจารึกในศิลาจารึกและการจารึกบนแผ่นโลหะ นอกจากนี้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรประเภทอื่น เช่น พงศาวดาร จดหมายเหตุ ตำนาน และกฎหมาย
  2. หลักฐานที่เป็นวัตถุ ได้แก่ วัตถุที่มนุษย์แต่ละยุคแต่ละสมัยได้สร้างขึ้น และตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น โบราณสถาน ประกอบด้วย วัด เจดีย์ มณฑป และโบราณวัตถุ ประกอบด้วย พระพุทธรูป ถ้วยชามสังคโลก

   
การแบ่งลำดับความสำคัญของหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็น 2 ประเภท คือ

  1. หลักฐานชั้นต้นหรือหลักฐานปฐมภูมิ เป็นหลักฐานที่มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นจริงๆ โดยมีการบันทึกของผู้ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์โดยตรง หรือผู้ที่รู้เหตุการณ์นั้นด้วยตนเอง  ดังนั้นหลักฐานช่วงต้น  จึงเป็นหลักฐานที่มีความสำคัญและน่าเชื่อถือมากที่สุด  เพราะบันทึกของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือผู้อยู่ในเหตุการณ์บันทึกไว้  เช่น  จดมายเหตุ คำสัมภาษณ์  เอกสารทางราชการ  บันทึกความทรงจำ  กฎหมาย  หนังสือพิมพ์  ภาพยนตร์  สไลด์  วีดิทัศน์       แถบบันทึกเสียง โบราณสถาน  แหล่งโบราณคดี  โบราณวัตถุ
  2. หลักฐานชั้นรองหรือหลักฐานทุติยภูมิ เป็นหลักฐานที่เขียนขึ้นโดยบุคคลที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นโดยตรง โดยมีการเรียบเรียงขึ้นภายหลังจากเกิดเหตุการณ์นั้นๆ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของบทความทางวิชาการและหนังสือต่างๆ เช่น พงศาวดาร ตำนาน บันทึกคำบอกเล่า ผลงานทางการศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการ  สำหรับหลักฐานชั้นรองนั้นมีข้อดี   คือ  มีความสะดวกและง่ายในการศึกษาทำความเข้าใจ  เนื่องจากเป็นข้อมูลได้ผ่านการศึกษาค้นคว้า  ตรวจสอบข้อมูล  วิเคราะห์เหตุการณ์และอธิบายไว้อย่างเป็นระบบ  โดยนักประวัติศาสตร์มาแล้ว

ลักษณะสำคัญของหลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย

           หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทย มีอยู่หลายลักษณะ อาจแบ่งลักษณะสำคัญของหลักฐานออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. หลักฐานที่ไม่ใช่ลายลักษณ์อักษร ได้แก่

1.1 โบราณสถาน หมายถึง สิ่งก่อสร้างโดยฝีมือมนุษย์ขนาดต่างๆกัน อยู่ติดกับพื้นดินไม่อาจนำเคลื่อนที่ไปได้ เช่น กำแพงเมือง คูเมือง วัง วัด ตลอดจนสิ่งก่อสร้างที่อยู่ในวัด และวัง เช่น โบสถ์ วิหาร เจดีย์ และที่อยู่อาศัย การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโบราณสถาน จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่ตั้งของโบราณสถานนั้นๆ

ปราสาทหินพิมาย     

 
ปราสาทหินพนมรุ้ง                               
ที่มาภาพ  http://www.thaigoodview.com/files/u1300/pimai.jpg      ที่มาภาพ : http://www.kodhit.comimages/stories/travel/
norteast/phasadkhow/12.jpg

1.2 โบราณวัตถุ หมายถึง สิ่งของโบราณที่มีลักษณะต่างๆกัน สามารถนำติดตัว เคลื่อนย้ายได้ ไม่ว่าสิ่งของนั้นๆ จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ  เป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น หรือเป็น  ส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน และสิ่งของที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเหล่านี้เกิดขึ้นในสมัยประวัติศาสตร์ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป รูปเคารพต่างๆ เครื่องประดับ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ

               การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโบราณวัตถุ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่ทางประวัติศาสตร์เสมอไป และสามารถไปศึกษาได้จากแหล่งรวบรวมทั้งของราชการ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

 เครื่องปั้นดินเผาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง 


 หม้อบ้านเชียง

ที่มาภาพ : http://www.thaitourzone.com/eastnorth/udon/museum.JPG
ที่มาภาพ : http://gaprobot.spaces.live.com/blog/cns!EDF1593B634FDF0!319.entry

2. หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่
                2.1 จารึก ในแง่ของภาษาแล้วมีคำอยู่ 2 คำที่คล้ายคลึงและเกี่ยวกับข้องกัน คือ
คำว่า จาร และจารึก
คำว่า จาร แปลว่า เขียนอักษรด้วยเหล็กแหลมลงบนใบลาน
คำว่า จารึก แปลว่า เขียนเป็นรอยลึกลงบนแผ่นศิลาหรือโลหะ

                ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คำว่า จารึก หมายรวมถึง หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งใช้วิธีเขียนเป็นรอยลึก ถ้าเขียนเป็นรอยลึกลงบนแผ่นหิน เรียกว่า ศิลาจารึก เช่น ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง ถ้าเขียนลงบนวัสดุอื่นๆ เช่น แผ่นอิฐ เรียกว่า จารึกบนแผ่นอิฐ แผ่นดีบุก เรียกว่า จารึกบนแผ่นดีบุก และการจารึกบนใบลาน

                นอกจากนี้ยังมีการจารึกไว้บนปูชนียสถานและปูชนียวัตถุต่างๆ โดยเรียกไปตามลักษณะของจารึกปูชนียวัตถุสถานนั้นๆ เช่น จารึกบนฐานพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย สมัยลพบุรี


จารึกบนฐานพระพุทธรูป วัดป่าข่อย จังหวัดลพบุรี 
ที่มาภาพ : http://pirun.kps.ku.ac.th/~b4927046/mon4_5_clip_image001_0000.jpg



จารึกวัดโพธิ์ จังหวัดนครปฐม 
ที่มาภาพ : http://www.openbase.in.th/files/u10/monstudies035.jpg


ศิลาจารึกหลักที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง
ที่มาภาพ  http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/nongkhai/thanagorn_n/plan_history/image/pic1130704120859.jpg

                เรื่องราวที่จารึกไว้บนวัสดุต่างๆ ที่พบในดินแดนประเทศไทย ส่วนมากจะเป็นเรื่องราวของพระมหากษัตริย์และศาสนา จารึกเหล่านี้มีทั้งที่เป็นตัวอักษร ภาษาไทย ภาษาขอม ภาษามอญ       ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต จารึกที่ค้นพบในประเทศไทยมีอยู่จำนวนมาก เช่น จารึกสมัย    ทวารวดี จารึกศรีวิชัย จารึกหริภุญชัย  และจารึกสุโขทัย

                                2.2 เอกสารพื้นเมือง เอกสารพื้นเมืองนับได้ว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่สำคัญของประเทศไทย มักปรากฏในรูปหนังสือสมุดไทย และเรียกชื่อแตกต่างกันออกไป เช่น ตำนาน พงศาวดาร จดหมายเหตุ ดังมีรายละเอียด ดังนี้

1) ตำนาน เป็นเรื่องที่เล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต เล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณจนหาจุดกำเนิดไม่ได้ แต่ไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นคนเล่าเรื่องราวเป็นคนแรก สิ่งที่พอจะรู้ได้ก็คือ มีการเล่าเรื่องสืบต่อกันมาเป็นเวลานานพอสมควร จนกระทั่งมีผู้รู้หนังสือได้จดจำและบันทึกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาจึงมีการคัดลอกตำนานเหล่านั้นเป็นทอดๆไปหลายครั้ง หลายครา ทำให้เกิดมีข้อความคลาดเคลื่อนไปเรื่อย ๆ ดังนั้น  เรื่องที่ปรากฏอยู่ในตำนานจึงอาจถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเรื่องเดิม  เนื้อเรื่องของตำนาน ส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองหรือชุมชนสมัยดั้งเดิมเกี่ยวกับปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ หรือเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลสำคัญ เช่น พระมหากษัตริย์ วีรบุรุษ โดยสามารถจัดประเภทของตำนานไทยได้ 3 ลักษณะ คือ

1.1) ตำนานในรูปของนิทานพื้นบ้าน เช่น เรื่องพญากง พญาพาน ท้าวแสนปม

1.2) ตำนานในรูปของการบันทึกประวัติของพระพุทธศาสนา จุดมุ่งหมายเพื่อรักษาศรัทธา ความเชื่อ สัญลักษณ์ของพุทธศาสนา เช่น ตำนานพระแก้วมรกต

1.3) ตำนานในรูปของการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง ราชวงศ์ กษัตริย์ และเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับมนุษย์และสัตว์ในอดีต เช่น ตำนานสิงหนวัติกุมาร ตำนานจามเทวีวงศ์  ตำนานมูลศาสนา ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์

           2) พงศาวดาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสให้ความหมายของพงศาวดารว่าหมายถึง เรื่องราวที่เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งสืบสันติวงศ์ลงมาถึงเวลาที่เขียนนั้น แต่ต่อมามีการกำหนดความหมายของพงศาวดารให้กว้างออกไปอีกว่าหมายถึง การบันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับอาณาจักรและกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักร   พงศาวดารจึงมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจวบจนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 4) สามารถจำแนกพงศาวดารได้ 2 ลักษณะคือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น พงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ   พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษธิบดี (ขำ บุนนาค)
อย่างไรก็ตามแม้ว่าหลักฐานประเภทพงศาวดารจะมีข้อบกพร่องอยู่มาก แต่ก็เป็นหลักฐานที่มีประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์

   
พงศาวดารสกลรัชกาลที่ 2 

                                 3) จดหมายเหตุ ในสมัยโบราณจดหมายเหตุ หมายถึง การจดบันทึกข่าวคราวหรือเหตุการณ์เรื่องหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นในวัน เดือน ปีนั้นๆ แต่ในปัจจุบันนี้ความหมายของคำว่า จดหมายเหตุได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หมายถึง เอกสารทางราชการทั้งหมด เมื่อถึงสิ้นปีจะต้องนำชิ้นที่ไม่ใช้แล้วไปรวบรวมเก็บรักษาไว้ที่กองจดหมายเหตุแห่งชาติ มีคุณค่าด้านการค้นคว้าอ้างอิงและเอกสารเหล่านี้ เมื่อมีอายุตั้งแต่ 25-50 ปีไปแล้วจึงเรียกว่า จดหมายเหตุหรือบรรณสาร การบันทึกจดหมายเหตุของไทยในสมัยโบราณ   ส่วนมากบันทึกโดยผู้ที่รู้หนังสือและรู้ฤกษ์ยามดี โดยมีการบันทึกวัน เดือน ปี และฤกษ์ยามลงก่อนจึงจะจดเหตุการณ์ที่เห็นว่าสำคัญลงไว้ โดยมากจะจดในวัน เวลา ที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น หรือในวัน เวลา ที่ใกล้เคียงกันกับที่ผู้จดบันทึกได้พบเห็นเหตุการณ์นั้นๆ ด้วยเหตุนี้ เอกสารประเภทนี้จึงมักมีความถูกต้องในเรื่องวัน เดือน ปี มากกว่าหนังสืออื่นๆ เช่น จดหมายเหตุของหลวง เป็นจดหมายเหตุที่ทางฝ่ายบ้านเมืองได้บันทึกไว้เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และบ้านเมือง จดหมายเหตุโหร เป็นเอกสารที่เกิดขึ้นเนื่องจากโหรซึ่งเป็นผู้ที่รู้หนังสือและฤกษ์ยามจดไว้ตลอดทั้งปี และมีที่ว่างไว้สำหรับใช้จดหมายเหตุต่างๆ ลงในปฏิทินนั้น เหตุการณ์ที่โหรจดไว้ โดยมากเป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับดวงดาว



 จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ 

หน่วยการเรียนรู้ที่7

ความสัมพันธ์กับชาติต่าง ๆในทวีปเอเชีย

          ในสมัยกรุงศรีอยุธยานอกจากจะมีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงแล้วกรุงศรีอยุธยายังมีความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียหลายประเทศโดยมีประเทศสำคัญได้แก่

จีน 

          มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับอาณาจักรอยุธยา เริ่มตั้งแต่ พระเจ้าหงหวู่หรือหงอู่ (หรือจูหยวงจาง) ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์หมิงขึ้นปกครองจีนได้ทรงส่งทูตไปยังอาณาจักรต่างๆ รวมทั้งกรุงศรีอยุธยาด้วยโดยในพ.ศ.1913ได้ทรงส่งราชทูตอัญเชิญพระบรมราชโองการมายัง กรุงศรีอยุธยา ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1(ขุนหลวงพะงั่ว) ในปีต่อมา คือพ.ศ. 1914

         ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งคณะราชฑูตไทยได้อัญเชิญพระราชสาสน์และบรรณาการไปถวาย ซึ่งนับได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ทางการฑูตครั้งแรก ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับจีน หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนเป็นไปด้วยความราบรื่นปรากฏว่าไทยได้ส่งทูตไปเมืองจีนเป็นประจำทุกปีและบางปีมากกว่าหนึ่งครั้งคือ ระหว่าง 1914 - 2054 ทางอยุธยาส่งทูตไปเมืองจีนถึง 89 ครั้งเป็นต้น อยุธยาค่อนข้างให้ความสำคัญกับประเทศจีนมาก ความสัมพันธ์กับจีนเป็นรูปแบบรัฐบรรณาการ อยุธยาต้องการตลาดสินค้าใหญ่อย่างจีน และไม่ต้องเสียภาษีขาเข้าเพียงแต่ยอมอ่อนน้อมกับจีนซึ่ง จีนถือตัวเองเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลใครมายอมอ่อนน้อมจะได้รับการคุ้มครอง และได้ผลประโยชน์กลับบ้านมากกว่าที่อยุธยาส่งบรรณาการไปถวายเสียอีกสินค้าที่เราส่งไปจีนการที่ไทยได้ส่งคณะฑูตบรรณาการไปจีนบ่อยครั้งนั้นผลที่ได้ คือเราได้สิทธิพิเศษทางการค้ากับจีนเพราะคณะฑูตนั้นจะนำสินค้าจากอยุธยามาขายที่จีนด้วยและตอนขากลับก็จะนำสินค้าจากจีน ไปขายที่อยุธยา ด้วย ในการติดต่อค้าขายระหว่างอยุธยากับจีนนั้นต่างก็มีความต้องการสินค้าของกันและกันสินค้าที่ไทย ต้องการจากจีน ได้แก่ ผ้าไหม ผ้าแพร เครื่องกระเบื้อง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่จีนต้องการจากไทย เช่น เครื่องเทศ รังนก ข้าวพริกไทย

           ต่อมาชาวตะวันตกได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยามีสินค้าบางอย่างที่จีน ซื้อสินค้าของชาติตะวันตกจากอยุธยาไปด้วย เช่นเครื่องแก้ว เครื่องหอม พรม เป็นต้น


ญี่ปุ่น 
          ชาวญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนและเข้ามาทำมาหากินอยู่ในกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่ พ.ศ.2083 ซึ่งตรงกับปลายรัชกาลของสมเด็จพระไชยราชาธิราช และชาวญี่ปุ่นได้อาสาสมัครในครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกองทัพไปรบกับพม่าในสงครามยุทธหัตถีใน พ.ศ.2135ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเริ่มอย่าง เป็นทางการในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ( พ.ศ.2148 -2153 ) กับโชกุนโตกุงาวะ  อิเอยาสุ ใน พ.ศ.2149 ญี่ปุ่นได้ส่งสาสน์มาเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับสมเด็จพระเอกาทศรถพร้อมด้วยดาบ เสื้อเกราะเป็นเครื่องราชบรรณาการ และในขณะเดียว กันได้ทูลขอปืนใหญ่และไม้หอมจากไทย สมเด็จพระเอกาทศรถจึง ส่งสาสน์ตอบไปญี่ปุ่นเป็นการตอบแทน ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
           ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เจริญสูงสุดในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2153 - 2171 ) เพราะในสมัยนี้ทางการกรุงศรีอยุธยาได้ส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นถึง 4 ครั้งคือใน พ.ศ.2159 , 2164 ,  2166 , 2168
           ส่วนความสัมพันธ์ทางด้านการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นซึ่งนับว่ามีความสำคัญมากนั้น โดยที่ญี่ปุ่นต้องการสินค้าจากไทย คือ ข้าว ดีบุก น้ำตาล ไม้ หนังกวาง สินค้าที่ไทยต้องการจากญี่ปุ่น คือทองแดง เงินเหรียญ ของญี่ปุ่น ฉากลับแล เป็นต้น

            ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยานอกจากเป็นทหารอาสาแล้วมี ชาวญี่ปุ่นบางคนเข้ารับราชการในอยุธยาในตำแหน่งที่สูงคือ ยามาดา นางามาซา ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นหลังจากสิ้นสุดสมัยพระเจ้าทรงธรรม แล้วเริ่มเสื่อมลง เช่นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองส่งคณะฑูตไปญี่ปุ่น 5 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการต้อนรับ จากญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยว และปิดประเทศตั้งแต่ พ.ศ.2182 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นสิ้นสุดลง

อิหร่าน 

          ชาวอิหร่านหรือชาวอาหรับได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยาและเข้ารับราชการในราชสำนักไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เช่นเฉกอะหมัด หรือต่อมาเป็นต้นตระกูลบุนนาค ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับอิหร่านนั้นไทยได้ส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอยุธยาแต่ไม่ค่อยราบรื่นนักเพราะถูกออกญาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนตินฟอลคอน) กีดกันลังกา ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีความสัมพันธ์กับลังกาเพราะทางลังกาได้ส่งทูตมาขอพระสงฆ์จากไทยเพื่อไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในลังกาสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทางลังกาจึงเรียกพระสงฆ์ที่ไปปฏิบัติพระธรรมที่ลังกาว่าลัทธิสยามวงศ์   

สรุป

            ความสัมพันธ์กับชาติในเอเชียส่วนใหญ่เป็นเรื่องการค้าเพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นหลักโดยเฉพาะการค้ากับ จีนทำให้อยุธยาได้ประโยชน์มากมายจากรูปแบบความสัมพันธ์แบบรัฐบรรณาการ ส่วนกับญี่ปุ่นก็เช่นกัน จนมีชาวญี่ปุ่นเข้ามารับราชการในสมัยอยุธยา คือ ยามาดาได้รับพระราชทานยศเป็น(ออกญาเสนาภิมุข)

หน่อยการเรียนรู้ที่6

สังคมสมัยอยุธยา

สภาพสังคมไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา


  • สังคมไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าจะต่อเนื่องมาจากสังคมสมัยสุโขทัย แต่ก็ได้มีความเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากสังคมสมัยสุโขทัยหลายด้าน ทั้งนี้ก็เพราะว่าสถาบันสูงสุดของการปกครองได้เปลี่ยนฐานะไป นั่นคือ พระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนฐานะจากมนุษยราช
  • ในสมัยสุโขทัยเป็นเทวธิราชขึ้นในสมัยอยุธยา เปลี่ยนจากฐานะความเป็น "พ่อขุน" มาเป็น "เจ้าชีวิต" ของประชาชนซึ่งเป็นผลให้ระบบและสถาบันทางการปกครองต่างๆ แตกต่างไปจากสังคมไทยสมัยสุโขทัยด้วยชนชั้นของสังคมสมัยอยุธยา
  • สังคมอยุธยา เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยชนชั้น นับตั้งแต่การแบ่งแยกชนชั้นอย่างเด็ดขาด ระหว่างกษัตริย์กับราษฎรแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ ก็มีอันดับสูงต่ำลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ในหมู่ราษฎร ก็มีการแบ่งชนชั้นกันเป็นชนชั้นผู้ดีกับชนชั้นไพร่ ในหมู่ข้าราชการก็มีศักดินาเป็นตัวกำหนดความสูงต่ำของข้าราชการในชนชั้นต่างๆ ซึ่งชนชั้นต่างๆ เหล่านี้ จะก่อให้เกิดมีสิทธิในสังคมอยุธยาขึ้นแตกต่างกันด้วย
  • ชนชั้นสูงสุดในสมัยอยุธยาคือพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนข้าราชการหรือขุนนางนั้น ก็แบ่งเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันไปตามลักษณะหน้าที่และความรับผิดชอบ พร้อมกับตำแหน่งหน้าที่แล้ว ราชการสมัยอยุธยายังมีศักดินาซึ่งมากน้อยตามตำแหน่งหน้าที่ ระบบศักดินานี้เป็นระบอบของสังคมอยุธยาโดยแท้ เพราะศักดินานั้น ทกคนต้องมีตั้งแต่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ พระบรมวงศานุวงศ์ลงไปจนถึงข้าราชการชั้นผู้น้อย และประชาชนธรรมดา จำนวนลดหลั่นลงไป
  • นอกจากจะแบ่งตามหน้าที่ตำแหน่งและความรับผิดชอบแล้ว ชนชั้นในสังคมอยุธยา ยังแบ่งออกกว้างๆ เป็นสองชนชั้นอีก คือ ผู้มีศักดินาตั้งแต่ 400 ขึ้นไป เรียกว่าชนชั้นผู้ดี ส่วนที่ต่ำลงมาเรียกว่า ไพร่ แต่ไพร่ก็อาจเป็นผู้ดีได้ เมื่อได้ทำความดีความชอบเพิ่มศักดินาของตนขึ้นไปถึง 400 แล้ว และผู้ดีก็อาจตกลงมาเป็นไพร่ได้หากถูกลดศักดินาลงมาจนต่ำกว่า 400 การเพิ่มการลดศักดินา
  • ในสมัยอยุธยาก็อาจทำกันง่ายๆ หากได้ทำความดีความชอบหรือความผิด การแบ่งคนออกเป็นชนชั้นไพร่ และชนชั้นผู้ดีเช่นนี้ ทำให้สิทธิของคนในสังคมแต่ละชั้นต่างกัน สิทธิพิเศษต่างๆ ตกไปเป็นของชนชั้นผู้ดีตามลำดับแห่งความมากน้อยของศักดินา เช่นผู้ดีเองและคนในครอบครัวได้รับยกเว้นไม่ถูกเกณฑ์ไปใช้งานราชการ ในฐานะที่เรียกกันว่า แลก เมื่อเกิดเรื่องศาล ผู้ดีก็ไม่ต้องไปศาล เว้นแต่ผิดอาญาแผ่นดิน เป็นขบถ ธรรมดาผู้ดีจะส่งคนไปแทนตนในโรงศาล มีทนายไว้ใช้เป็นการส่วนตัว นอกจากนั้น ก็ยังมีสิทธิเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ในขณะที่เสด็จออก ขุนนาง เมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่ ผู้ดีที่มีศักดินาสูงๆ จะต้องคุมคนไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อรับราชการทัพได้ในทันที
  • เมื่อพระมหากษัตริย์เรียก เช่น ผู้มีศักดินา 10,000 และมีหน้าที่บังคับบัญชากรมกอง ซึ่งมีไพร่หลวงสังกัดอยู่ ก็ต้องรับผิดชอบกะเกณฑ์คนแข็งแรงและมีประสิทธิภาพด้วย


สังคมอยุธยา


  • สังคมอยุธยานั้น กฎหมายกำหนดให้ทุกคนต้องมีนาย ตามกฎหมาย ลักษณะรับฟ้องมาตรา 10 กล่าวว่า "ราษฎรรับฟ้องร้องด้วยคดีประการใดๆ แลมิได้สังกัดมูลนายอย่าพึงรับไว้บังคับบัญชาเป็นอันขาดทีเดียว ให้ส่งตัวผู้นั้นแก่สัสดี เอาเป็นคนหลวง" จะเห็นว่า ไพร่ทุกคนของสังคมอยุธยาต้องมีสังกัดมูลนายของตน ผู้ไม่มีนายสังกัดกฎหมายไม่รับผิดชอบในการพิทักษ์รักษาชีวิตและทรัพย์สิน ไพร่จะต้องรับใช้ชาติในยามสงคราม จึงต้องมีสังกัดเพื่อจะเรียกใช้สะดวก เพราะในสมัยอยุธยานั้น ไม่มีทหารเกณฑ์หรือทหารประจำการในกองทัพเหมือนปัจจุบัน จะมีก็แต่กองทหารรักษาพระองค์เท่านั้น 
  • นอกจากนั้น เป็นเพราะสมัยแรกตั้งกรุงศรีอยุธยา ต้องใช้ชายฉกรรจ์จำนวนมากในการปกป้องข้าศึก ศัตรู ความจำเป็นของสังคมจึงบังคับให้ราษฎรต้องมีนาย เพราะนายจะเป็นผู้เกณฑ์กำลังไปให้เมืองหลวงป้องกันภัยจากข้าศึกศัตรู และนายซึ่งต่อมากลายเป็น "เจ้าขุนมูลนาย" ต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกหมู่ของตน ถ้านายสมรู้ร่วมคิดกับลูกหมู่ทำความผิด ก็ถูกปรับไหมตามยศสูงต่ำ และหากลูกหมู่ของตนถูกกล่าวหาว่าเป็นโจรปล้นทรัพย์ มูลนายก็ต้องส่งตัวลูกหมู่ให้แก่ตระลากร
  • สังคมอยุธยาจึงเป็นสังคมที่ต้องมีความรับผิดชอบมากอยู่ มีกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย เพราะลักษณะและองค์ประกอบของสังคมซับซ้อนกว่าสังคมสุโขทัย

ระบบราชการสมัยกรุงศรีอยุธยา

  • ลักษณะสังคมไทยที่น่าสนใจอยู่อีกประการหนึ่งคือ ระบบราชการ ซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดราษฎรให้มีภาระต่อแผ่นดิน ชีวิตคนไทยได้ผูกพันอยู่กับราชการมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ข้าราชการในสมัยอยุธยา เรียกว่า ขุนนาง มียศหรือบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาหรือออกญาเป็นชั้นสูงสุด และลดลงไปตามลำดับคือ เจ้าหมื่น พระ จมื่น หลวง ขุน จ่า หมื่น และพัน ส่วนเจ้าพระยา และสมเด็จพระยานั้น เกิดในตอนปลายๆ สมัยอยุธยา ส่วนยศ เจ้าหมื่น จมื่น และจ่านั้น เป็นยศที่ใช้กันอยู่ในกรมหาดเล็กเท่านั้น 
  • ส่วนตำแหน่งข้าราชการสมัยอยุธยาก็มี อัครมหาเสนาบดี เสนาบดี จางวาง เจ้ากรม ปลัดกรม และสมุหบัญชี เป็นต้น ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี และเสนาบดีนั้นในระยะแรกๆ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา ต่อมาในระยะหลังๆ ก็เป็นเจ้าพระยาไปหมด ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ตั้งแต่ จางวาง เจ้ากรม ปลัดกรมลงมาจนถึงสมุบัญชีนั้น มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาบ้าง พระบ้าง จนถึงหลวง และขุนตามความสำคัญของตำแหน่งนั้นๆ ข้าราชการในสมัยอยุธยา ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนหรือเงินปี ได้รับพระราชทานเพียงที่อยู่อาศัยและเครื่องอุปโภคบริโภคบางอย่าง เช่น หีบเงินใช้ใส่พลู ศาตราวุธ เรือยาว สัตว์ พาหนะ เลกสมกำลังและเลกทาสไว้ใช้สอย ที่ดินสำหรับทำสวนทำไร่ แต่เมื่อออกจากราชการแล้วก็ต้องคืนเป็นของหลวงหมดสิ้น


ไพร่สมัยอยุธยา


  • ระบบราชการของอยุธยานั้น ได้นำคนลงเป็นไพร่ สังคมอยุธยาจึงมีไพร่มีนาย ตามจดหมายเหตุลาลูแบร์กล่าวไว้ว่า "ประชาชนชาวสยามรวมกันเป็นกองทหารรักษาดินแดน" ซึ่งทุกคนต้องขึ้นทะเบียนหางว่าวกรมสุรัสวดีเข้าไว้ทั้งหมด ทุกคนเป็นพลรบต้องเกณฑ์เข้าเดือนรับราชการในพระองค์ปีละ 6 เดือน พลเมืองทั้งสิ้นต้องขึ้นทะเบียนเป็นหลักฐานไว้โดยแบ่งออกเป็นฝ่ายขวาฝ่ายซ้าย เพื่อทุกคนรู้ว่าตนต้องขึ้นสังกัดหน้าที่ฝ่ายใด นอกจากนั้น ยังแบ่งส่วนราชการออกเป็นกรมอีก แต่ละกรมมีหัวหน้าคนหนึ่งเรียกว่า นาย จนกระทั่งนายนี้เป็นคำแสดงความเคารพยกย่องที่ใช้กันทั่วไปแม้ระเบียบการปกครองสมัยอยุธยาจะแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ออกเป็นฝ่ายทหารและพลเรือน แต่ก็ปรากฏว่าใช้ได้แค่ยามปรกติเท่านั้น พอเกิดสงครามขึ้น เจ้านายทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนก็ต้องเข้าประจำกองตามทำเนียบตน ทั้งนี้เพราะกำลังพลมีน้อย ไม่อาจแยกหน้าป้องกันประเทศไว้กับทหารฝ่ายเดียวได้ จำเป็นต้องใช้หลักการรวม จึงทำให้ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเป็นทหาร
  • สมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า ไพร่ ไพร่เป็นคำที่กินความกว้างขวาง เพราะผูกพันอยู่กับราชการมากกว่าทหารปัจจุบัน ในสมัยอยุธยา ไพร่คือ ประชาชนที่สังกัดมูลนายต่างๆ มีหน้าที่และความรับผิดชอบแยกออกได้ดังนี้

  • 1. ไพร่หลวง หมายถึง ไพร่ที่สังกัดวังหลวงหรือพระเจ้าแผ่นดิน ไพร่หลวงจะต้องถูกเกณฑ์เข้ารับราชการปีละ 6 เดือน คือเข้าเดือนหนึ่งออกเดือนหนึ่งสลับกันไป ถ้าไม่อยากถูกเกณฑ์เข้ารับราชการก็จะต้องเสียเงินแทน ซึ่งอาจจะเป็นเดือนละ 4-6 บาท ไพร่หลวงจะต้องสังกัดอยู่ในกรมพระสัสดีซ้าย ขวานอก ใน ไพร่หลวงที่เป็นชายเมื่อเกิดศึกสงครามก็จะต้องออกรบได้
  • 2. ไพร่สม หมายถึง ไพร่ที่สังกัดบรรดาเจ้านายหรือขุนนางใหญ่น้อยทั้งหลายในยามปรกติก็ถูกเกณฑ์แรงงานหรือรับราชการถ้าเกิดศึกสงครามผู้เป็นชายก็จะต้องออกรบ มีบางครั้งพวกไพร่หลวงหนีไปสมัครเป็นไพร่สมอยู่กับเจ้านาย กฎหมายอยุธยามีบทลงโทษถึงจำคุกและถูกเฆี่ยนถ้าหากจับได้นอกจากนั้น กฎหมายอยุธยายังได้กำหนดอีกว่า ถ้าพ่อกับแม่สังกัดแตกต่างกันเช่นคนหนึ่งเป็นไพร่หลวง อีกคนหนึ่งเป็นไพร่สม ลูกที่เกิดอาจจะต้องแยกสังกัดตามที่กฎหมายกำหนด
  • 3. ไพร่ราบ หมายถึง ไพร่ที่สังกัดมูลนาย มีอายุระหว่าง 13-17 ปี มีศักดินาระหว่าง 15
  • 4. ไพร่ส่วย คือ พวกที่ยกเว้นไม่ต้องถูกเกณฑ์เข้ามารับราชการแต่จะต้องส่งสิ่งของมาให้หลวงแทน เช่น อาจจะเป็นดีบุก ฝาง หญ้าช้าง ถ้าไม่นำสิ่งของเหล่านี้มาจะต้องจ่ายเงินแทน
  • 5. เลกหรือเลข เป็นคำรวมที่ใช้เรียกไพร่หัวเมืองทั้งหลายตลอดจนข้าทาส พวกเลกหัวเมือง ยังขึ้นกับกระทรวงใหญ่ 2 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย และกลาโหม มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา


ทาสสมัยอยุธยา


  • เป็นที่ยอมรับกันว่า สังคมอยุธยามีทาสไว้ใช้ ทาสเป็นชนชั้นอีกชนชั้นหนึ่งของสังคมสมัยอยุธยาและกฎหมายอยุธยาก็ได้ยอมรับการมีทาส มีบทบัญญัติเกี่ยวกับทาสไว้มากมายและได้แบ่งประเภทของทาสไว้ 7 พวกด้วยกันคือ
1. ทาสสินไถ่

2. ทาสเกิดในเรือนเบี้ย

3. ทาสได้มาแต่บิดามารดา

4. ทาสท่านให้

5. ทาสอันได้ช่วยเหลือในยามโทษทัณฑ์

6. ทาสอันได้เลี้ยงมาเมื่อเกิดทุพภิกขภัย

7. ทาสอันได้ด้วยเชลย


  • จะเห็นว่า ทาสในสมัยอยุธยานั้น เป็นทาสที่ถูกกฎหมายคุ้มครอง เป็นทาสที่มีสภาพเป็นมนุษย์และเป็นพลเมืองของชาติอย่างสมบูรณ์ ฉะนั้นคนไทยในสมัยอยุธยาจึงสมัครใจจะเป็นทาสมากกว่าจะเป็นขอทาน เพราะอย่างน้อยก็มีข้าวกินมีที่อยู่อาศัยโดยไม่เดือดร้อน

ชีวิตความเป็นอยู่และประเพณีบางอย่างสมัยอยุธยา


  • การก่อรูปสังคมนั้น โดยทั่วไปย่อมเป็นหมู่บ้านตามที่อุดมสมบูรณ์พอจะเพาะปลูกเพื่อยังชีพได้ เช่น บริเวณลุ่มแม่น้ำ ลักษณะการก่อรูปของสังคมไทยโบราณก็เป็นไปลักษณะนี้


1. บ้านเรือนสมัยอยุธยา สร้างเป็นหลังขนาดย่อมๆ

2. ผู้หญิงต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวมากกว่าผู้ชาย

3. ชอบเล่นการพนันกันอย่างกว้างขวาง

4. ชอบสูบยาเส้น และสูบกันอย่างกว้างขวาง

5. นิยมให้ลูกชายได้ศึกษาเล่าเรียนโดยใช้วัดเป็นสถานศึกษา 

หน่วยการเรียนรู้ที่5

ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก


          ในสมัยอยุธยาชาวตะวันตกจากทวีปยุโรปได้เข้ามามีความสัมพันธ์กับอยุธยาหลายชาติ การดำเนินการในด้านความสัมพันธ์ของอยุธยามีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ สร้างสัมพันธไมตรี รับวิทยาการ เช่นการแพทย์ การศึกษา ก่อสร้าง บุคลากร รักษาเอกราชอาณาจักร โดยระบบคานอำนาจในหมู่ชาวตะวันตกด้วยกัน


โปรตุเกส

          เป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ. 2054 เนื่องจากโปรตุเกสยึดครองหัวเมืองมะละกาได้เมื่อรู้ว่าเคยเป็นของอยุธยามาก่อนจึงได้ส่ง ทูตมาเจริญสัมพันธไมตรี โดยไทยอำนวยความสะดวกในการค้าและเผยแผ่ศาสนาและโปรตุเกสรับจัดหาปืนและกระสุนดินดำให้ฝ่าย อยุธยาความสัมพันธ์เริ่มเสื่อมเมื่อฮอลันดามาค้ากับอยุธยาจึงก่อความวุ่นวาย และถูกปราบปรามสมัยพระเจ้าปราสาททอง ความสัมพันธ์จึงเสื่อมลง

ฮอลันดา

        ได้เดินเรือมาติดต่อค้าขายในแถบเอเชียและมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆและกลายเป็นคู่แข่งกับโปรตุเกสในปี 2147 สมัยสมเด็จพระนเรศวรบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาได้เข้ามาแทนที่โปรตุเกสที่เสื่อมอำนาจไป จุดประสงค์เพื่อการค้าอย่างเดียวอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถได้ส่งทูตไทย 16 คน เพื่อไปดูงานด้านต่อเรือเป็นครั้งแรกของไทยเหตุนี้เองทำให้ฮอลันดาได้สิทธิพิเศษทางการค้าในการซื้อหนังสัตว์ ผู้เดียวทำให้อังกฤษและโปรตุเกสไม่พอใจ ตอนหลังปลายสมัยพระนารายณ์การค้ากับฮอลันดา
เสื่อมลงเนื่อง จากไม่พอใจระบบผูกขาดสินค้าของไทย

สเปน

        ได้เข้ามาติดต่อสมัยพระนเรศวรพระองค์ทรงมอบช้าง 2 เชือกเป็นบรรณาการ แก่ผู้สำเร็จราชการสเปนที่มะนิลา ฟิลิปปินส์ ต่อมาเปลี่ยนผู้สำเร็จราชการคนใหม่สเปนจึงส่งราชสาสน์มาขอทำการค้ากับอยุธยา แต่การค้าไม่รุ่งเรืองเหมือนชาติอื่นๆ เนื่องจากสเปนมุ่งที่จะเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในเขมรและค้าขายกับเขมรมากกว่าไทย และเรื่อสำเภาไทยที่ไปค้าที่ฟิลิปปินส์ได้รับความเดือดร้อน จากการกระทำของสเปนพ่อค้าไทยจึงเลิกค้าขายกับสเปน

อังกฤษ

        ในสมัยพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ได้ส่งพระราชสาส์นมากับพ่อค้า ถึงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเพื่อติดต่อค้าขายโดยให้อยุธยาเป็นศูนย์การค้าเพื่อไปค้ากับจีนและญี่ปุ่น การค้าไม่ค่อยราบรื่นเพราะมีคู่แข่งสำคัญอย่างโปรตุเกส และฮอลันดาทำให้อังกฤษถอนสถานีการค้าที่อยุธยาออกไป มารื้อฟื้นขึ้นใหม่ในสมัยพระนารายณ์ โดยพระองค์ต้องการให้อังกฤษถ่วงดุลอำนาจกับฮอลันดาแต่ไม่สำเร็จ แถมมีปัญหากันเรื่องการค้าความสัมพันธ์จึงปิดฉากลงตั้งแต่นั้นมา

ฝรั่งเศส

           เป็นชาติสุดท้ายที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยา คณะแรกที่เข้ามาเป็นบาทหลวงในปี พ.ศ. 2205 เนื่องจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ให้เสรีภาพด้านศาสนา จึงทำให้ในปี 2216 สังฆราชแห่งฝรั่งเศสได้นำสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มาถวายพระนารายณ์ โดยความช่วยเหลือ  ออกญาวิชาเยนทร์หรือ( คอนสแตนตินฟอลคอน) ชาวกรีกที่มารับราชการในอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์จึงส่งคณะทูตไปฝรั่งเศสอีก 2 ชุด

          ใน พ.ศ. 2223 และ พ.ศ. 2227 แต่ชุดแรกเรือล่มก่อน ส่วนชุด 2 ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และคณะทูต จากฝรั่งเศสก็ติดตามมาด้วยคือ  เชอ วาริเอร์ เดอโชมองต์ โดยคณะทูตชุดนี้ได้มีจุดหมายเพื่อสร้างสัมพันธ์ ทางการค้า และโน้มน้าวให้สมเด็จพระนารายณ์เข้ารีตนับถือคริสต์

         ปี พ.ศ. 2228 คณะทูตฝรี่งเศส เดินทางกลับพร้อมคณะทูตไทย คือออกพระวิสุทธสุนทร หรือ (ปาน) ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสมาถึงจุดสุดท้ายช่วงปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ออกญาวิไชเยนทร์ วางแผนร่วมกับชาวฝรั่งเศสเพื่อยึดครองอยุธยา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะถูกกวาดล้างเสียก่อน โดยขุนนางไทย คือ พระเพทราชาและพรรคพวกทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับฝรั่งเศสสิ้นสุดลง

 สรุป

        ความสัมพันธ์กับชาวตะวันตกส่วนใหญ่จะเป็นทางด้านการค้าเป็นหลักช่วยสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแก่อยุธยาอย่างมากแต่มีบางประเทศที่เข้ามาติดต่อโดยมีศาสนาเป็นเรื่องบังหน้ามีเรื่องการเมืองแอบแฝง เช่น ฝรั่งเศส เป็นต้น


หน่วยการเรียนรู้ที่4

ปัจจัยที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจของอาฌาจักรอยุธยา



ปัจจัยที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ
ของอาณาจักรอยุธยา

โครงสร้างทางเศรษฐกิจ

            อยุธยามีพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี  มาตั้งแต่แรกตั้งอาณาจักรเนื่องจากตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร และการค้ากับต่างประเทศ

      1. เกษตรกรรม อยุธยาตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก และลพบุรี พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงและเหมาะต่อการเพาะปลูกโดยเฉพาะการปลูกข้าว  ข้าวจึงเป็นผลิตผลที่สำคัญของอาณาจักร ในการปลูกข้าวนั้นประชากรส่วนใหญ่จะทำในลักษณะพอยังชีพมีการใช้เทคโนโลยีอย่างง่ายๆ โดยใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่มีความเหมาะสมจึงมีผลผลิตค่อนข้างมากที่จะส่งส่วยให้กับรัฐซึ่งทางรัฐเองก็จะนำไปหาผลประโยชน์อีกทางหนึ่ง นอกจากข้าวแล้วประชากรยังมีการผลิตในทางการเกษตรอีกหลายประเภท เช่น ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และการประมง ซึ่งผู้ปกครองเอง ก็เห็นความสำคัญของการประกอบอาชีพเกษตรดังกล่าว จึงมีนโยบายสนับสนุนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น สนับสนุนให้ราษฎรเข้าไปทำกินในที่ดินว่างเปล่า ตรากฎหมายคุ้มครองผลผลิตของราษฎร เป็นต้น กระบวนการผลิตทางการเกษตรนั้น  ประชากรทั่วไปจะผลิตโดยใช้แรงงานครอบครัวและชุมชนตามประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมา ส่วนการผลิตของพระมหากษัตริย์ ขุนนางจะผลิตโดยใช้การเกณฑ์แรงงานไพร่และทาส กระบวนการผลิตดังกล่าวก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่นหลายประการ เช่น การลงแขก การประกอบพิธีกรรม พืชมงคล และการทำขวัญไร่นา เป็นต้น
           
           การเกษตรเป็นเศรษฐกิจหลักที่ทำให้อยุธยามีความรุ่งเรือง บ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้า ทำให้อยุธยาขยายอาณาเขตประเทศออกไปอย่างกว้างขวางและสามารถเอาชนะอาณาจักรน้อยใหญ่ในดินแดนสุวรรณภูมิได้

      2. อุตสาหกรรม ผลิตผลทางอุตสาหกรรมของอยุธยา ส่วนใหญ่ คือ อุตสาหกรรมในครัวเรือน ผลิตเครื่องใช้ไม้สอยอย่างง่ายๆ รวมไปถึงเครื่องครัวเรือนของชุมชนชั้นสูงและในราชสำนัก เช่น เสื้อผ้า เครื่องจักรสาน เครื่องเหล็ก เครื่องแกะสลัก เครื่องประดับ การผลิตเครื่องทองรูปพรรณ อุตสาหกรรมที่สำคัญอีกอย่างก็ คือ การทำเครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบ ดังปรากฏหลักฐานว่ามีการพบเตาเผาภาชนะหลายเตาในบริเวณ แม่น้ำน้อย นอกจากนี้มีอุตสาหกรรมการต่อเรือขนาดเล็ก และเรือขนาดใหญ่ เพื่อใช้บรรทุกสินค้า

      3. การค้า จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า อยุธยามีบทบาทสำคัญทั้งในแง่ของการเป็นอาณาจักรการค้า ซึ่งได้สร้างความมั่งคั่งให้กับอาณาจักรอย่างต่อเนื่องทั้งนี้เพราะสภาพที่ตั้งของอยุธยา เหมาะสมกับการค้าขายทั้งภายใจอาณาจักร และระหว่างประเทศ

             3.1  การค้าขายภายในอาณาจักร  ด้วยสภาพที่ตั้งของอยุธยาอยู่บริเวณใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่บริเวณที่แม่น้ำสำคัญหลายสายไหลผ่าน  ดังนั้นจึงเป็นชุมชนทางการค้าที่พ่อค้าจากหัวเมืองทางเหนือ จะนำสินค้าของป่ามาแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากพ่อค้าจีนที่เดินทางเข้ามาจอดเรือซื้อขายบริเวณปากน้ำเจ้าพระยาสินค้าเหล่านี้จะมีการค้าขายโดยผ่านพระคลังสินค้าซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ทำให้รัฐได้ผลประโยชน์จากการเป็นพ่อค้าคนกลางในการแสวงหาผลประโยชน์ดังกล่าว  ความสำคัญของการค้าทำให้รัฐได้ส่งเสริมการค้าด้วยวิธีการต่างๆ ตลอดจนออกกฎหมายควบคุมการค้า  เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวดำเนินไปได้ด้วยดี  อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาครัฐจะสนับสนุนการค้า แต่ประชากรทั่วไปก็ไม่ได้รับผลประโยชน์มากนักเนื่องจากยังคงค้าขายที่เน้นการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ตนเองต้องการมากกว่าจะแสวงหากำไร และผลประโยชน์โดยตรง ดังนั้นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการค้าจึงจำกัดอยู่เฉพาะขุนนาง เจ้านาย ตลอดจนชาวต่างชาติ ผู้ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าว

             3.2  การค้าขายระหว่างประเทศ อยุธยานับว่ามีชัยภูมิเหมาะสมกับการค้าระหว่างประเทศเนื่องจากเป็นเมืองท่าที่อยู่กึ่งกลางเส้นทางการเดินเรือค้าขายระหว่างประเทศจีนกับประเทศอินเดีย ประกอบกับความเข้มแข็งของอำนาจทางการเมืองทำให้อยุธยาไม่มีคู่แข่งการค้าและยังเป็นศูนย์รวมของสินค้าจากเมืองท่าต่างๆ  ที่อยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของอยุธยาด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้อยุธยา กลายเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างจีนกับอินเดีย

          สำหรับการค้าขายกับอยุธยากับประเทศในแถบเอเชีย  อยุธยาจะค้าขายกับจีน และอินเดียเป็นหลัก  นอกจากนั้นก็ค้าขายกับชาวอาหรับ  เปอร์เซีย  ส่วนการค้ากับต่างชาติตะวันตกนั้นโปรตุเกส  เป็นชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 21 ต่อจากนั้นก็ชาติอื่นๆ เช่น สเปน  ฮอลันดา  อังกฤษ  และฝรั่งเศส  เดินทางเข้ามาค้าขายซึ่งรุ่งเรืองมากในสมัยราชวงศ์ปราสาททอง  แต่เมื่อถึงรัชสมัยของราชวงศ์บ้านพลูหลวง  การค้ากับชาติตะวันตกก็ซบเซาลง

           การดำเนินกิจกรรมค้าขายกับต่างชาตินั้น รัฐจะเป็นผู้จัดการโดยหน่วยงาน “พระคลังสินค้า”  ซึ่งมีกรมท่าซ้ายดูแลรับผิดชอบการค้ากับอินเดีย และชาติอาหรับ เปอร์เซีย ส่วนกรมท่าขวาดูแลค้าขายกับจีน  และกรมท่ากลางค้าขายกับชาติตะวันตก หน่วยงานของรัฐจะดำเนินการค้าขายโดยการผูกขาดสินค้า คือ สินค้าบางอย่าง เช่น อาวุธ และสินค้าที่รัฐเห็นว่าจะขายต่อได้กำไรรัฐจะผูกขาดซื้อไว้ ส่วนสินค้าออก เช่น  ข้าว และของป่า รัฐจะกำหนดให้เป็นสินค้าต้องห้ามต้องซื้อผ่านรัฐเท่านั้น  การที่รัฐดำเนินธุรกิจแบบผูกขาดสินค้าและยังเรียกเก็บภาษี การค้าจากเรือของชาวต่างชาติ ทำให้รัฐบาลได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากกิจกรรมดังกล่าว  (อดิสร  ศักดิ์สูง. 2546 :  67  อ้างจาก ศุภรัตน์  เลิศพาณิชย์กุล  2532 : 297 – 301) จะเห็นได้ว่าการค้าส่งผลให้อยุธยามีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจเกิดการขยายตัวของชุมชน การแลกเปลี่ยนสินค้า  การพัฒนาทางด้านสังคม นำไปสู่ความมั่นคงเข้มแข็งของอาณาจักรอยุธยา

เศรษฐกิจสมัยอยุธยา

          ความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง  การมีแหล่งน้ำจำนวนมาก  ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพราะเกิดจากการทับถมของดินตะกอนแม่น้ำ  ซึ่งเหมาะสำหรับการทำนา  ทำให้อาณาจักรอยุธยาเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ  นอกจากนี้การมีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมกับการค้าขายกับเมืองต่างๆ ที่อยู่ภายในตามเส้นทางแม่น้ำ และการค้าขายกับภายนอกทางเรือสำเภา  ทำให้เศรษฐกิจอยุธยามีพื้นฐานสำคัญอยู่ที่การเกษตรและการค้ากับต่างประเทศ ต่อมาได้พัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          1.  เศรษฐกิจในสมัยอยุธยาเป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพที่ขึ้นอยู่กับเกษตรกรรมเช่นเดียวกับสุโขทัย พื้นฐานทางเศรษฐกิจของอยุธยาคือการเกษตร มีวัตถุประสงค์ในการผลิตเพื่อบริโภคภายในอาณาจักรตามลักษณะเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ  แต่อาณาจักรอยุธยาได้เปรียบกว่าอาณาจักรสุโขทัยในด้านภูมิศาสตร์  เพราะอาณาจักรอยุธยาตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอันกว้างใหญ่  แม่น้ำสำคัญคือ  แม่น้ำเจ้าพระยา  แม่น้ำป่าสัก  แม่น้ำลพบุรี  ซึ่งมีน้ำตลอดปีสำหรับการเพาะปลูก  พืชที่สำคัญคือ  ข้าว  รองลงมาได้แก่  พริกไทย  หมาก  มะพร้าว  อ้อย  ฝ้าย  ไม้ผลและพืชไร่อื่นๆ  ลักษณะการผลิตยังใช้แรงงานคนและแรงงานสัตว์เป็นหลัก  ด้วยเหตุดังกล่าว  อาณาจักรอยุธยาจึงได้ทำสงครามกับรัฐใกล้เคียงเพื่อครอบครองแหล่งทรัพยากรและกวาดต้อนผู้คนเพื่อนำมาเป็นแรงงานสำคัญของบ้านเมือง

  • ราชอาณาจักรอยุธยาได้ทำนุบำรุงการเกษตรด้วยการจัดพระราชพิธีต่างๆ เพื่อให้เป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญชาวนาให้มีกำลังใจ  เช่น พระราชพิธีพิรุณศาสตร์ เป็น พิธีขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีการสร้างสิริมงคลให้กับชาวนาและแจกพันธุ์ข้าว เป็น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็น พิธีลงมือจรดคันไถเป็นครั้งแรกเพื่อเป็นการเตือนว่าถึงเวลาทำนาแล้ว
  • อาณาจักรอยุธยาไม่ได้สร้างระบบการชลประทานเพื่อส่งเสริมการเกษตร  เนื่องจากมีแหล่งน้ำเพียงพอ  ส่วนการขุดคลองทำขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางการคมนาคม  เพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์  และการระบายน้ำตอนหน้าน้ำเท่านั้น แม้ว่าอาณาจักรอยุธยา การเพาะปลูกยังเป็นแบบดั้งเดิมต้องพึ่งพาแรงงานคนและธรรมชาติเป็นหลัก แต่สภาพภูมิศาสตร์ที่อุดมสมบูรณ์  ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีเหลือเป็นจำนวนมาก  ผลผลิตทางการเกษตรเป็นสินค้าที่นำไปขายให้ชาวต่างประเทศ นำรายได้มาสู่อาณาจักร  ดังปรากฏหลักฐานว่าอยุธยาเคยขายหมากให้จีน  อินเดีย  และโปรตุเกส  ฝ้ายและมะพร้าวให้ญี่ปุ่นและมะละกา  ในสมัยอยุธยาตอนปลายได้ขายข้าวให้ฮอลันดา  ฝรั่งเศส  มลายู  มะละกา  ชวา  ปัตตาเวีย  ลังกา  จีน  ญี่ปุ่น การเกษตรจึงเป็นรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจของอยุธยาและมีส่วนในการเสริมสร้างราชอาณาจักร     อยุธยาให้เจริญรุ่งเรืองมาตลอดเวลา 417 ปี


          2.  อาณาจักรอยุธยาเป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากทำเลที่ตั้งของอาณาจักรอยุธยาเอื้ออำนวยต่อการค้า  กล่าวคือ  ศูนย์กลางอาณาจักรตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสมกับการค้า  ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร  กล่าวคือ  กรุงศรีอยุธยามีแม่น้ำล้อมรอบทั้ง 3 ด้าน  คือ  แม่น้ำลพบุรี  แม่น้ำป่าสัก  และแม่น้ำเจ้าพระยา  ทำให้อยุธยาใช้เส้นทางทางน้ำติดต่อกับแว่นแคว้นที่อยู่ภายในได้สะดวก  เช่น  สุโขทัย    ล้านนา  ล้านช้าง นอกจากนี้ที่ตั้งของราชธานีที่อยู่ไม่ห่างไกลปากน้ำหรือทะเล  ทำให้อยุธยาติดต่อค้าขายทางเรือกับต่างประเทศที่อยู่ห่างไกลได้สะดวก  และเมื่ออาณาจักรมีความเข้มแข็ง  สามารถควบคุมการค้ารอบชายฝั่งทะเลอันดามัน  และโดยรอบอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งที่พ่อค้าต่างชาติเดินทางมาค้าขายได้  ทำให้อยุธยาสามารถทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางในการติดต่อค้าขายระหว่างจีน  ญี่ปุ่นกับพ่อค้าต่างชาติอื่น ๆ กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นศูนย์กลางที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  •  บทบาทสำคัญของอยุธยาทางการค้ามี 2 ประการ  คือ  เป็นแหล่งรวมสินค้าประเภทของป่าที่ต่างชาติต้องการและเป็นศูนย์กลางการค้าส่งผ่าน  คือ  กระจายสินค้าจากจีนและอินเดียสู่ดินแดนตอนในของภูมิภาค  เช่น  ล้านนา  ล้านช้าง  และส่งสินค้าจีนไปยังดินแดนต่างๆ ในมหาสมุทรอินเดีย  และรวบรวมสินค้าจากดินแดนตอนในและจากดินแดนต่างๆ ในอินเดียไปขายต่อให้จีน


  •  สินค้าประเภทของป่า ได้แก่  สัตว์ป่าและผลผลิตจากสัตว์ป่า  ไม้  เช่น  ไม้ฝาง  ไม้กฤษณา  ไม้จันทร์หอม  และพืชสมุนไพร  เช่น  ลูกกระวาน  ผลเร่ว  กำยาน  การบูร  เป็นต้น  สินค้าเหล่านี้ได้จากดินแดนภายในอาณาจักรอยุธยา และดินแดนใกล้เคียง  ผ่านทางระบบมูลนาย โดยแรงงานไพร่จะเป็นผู้หาแล้วส่งมาเป็น  "ส่วย"  แทนแรงงานที่จะต้องมาทำงานให้รัฐ  บางส่วนได้มาด้วยการซื้อหาแลกเปลี่ยนกับราษฎรและอาณาจักรเพื่อนบ้าน  แต่ส่วนใหญ่มาจากการเกณฑ์ส่วยจากหัวเมืองภายในอาณาจักร  โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถที่ปฏิรูปการปกครองหัวเมือง  ทำให้การเกณฑ์ส่วยรัดกุมมากกว่าเดิม  และส่วนหนึ่งมาจากเมืองประเทศราชของอยุธยา  นอกจากของป่าแล้ว  สินค้าออกยังได้แก่  พริกไทย  ดีบุก  ตะกั่ว  ผ้าฝ้าย  และข้าว  ส่วนสินค้าเข้าได้แก่  ผ้าแพร  ผ้าลายทอง  เครื่องกระเบื้อง  ดาบ  หอก  เกราะ  ฯลฯ



  • การค้ากับต่างประเทศในสมัยอยุธยาส่วนใหญ่เป็นการส่งเรือสำเภาไปค้าขายกับดินแดนต่างๆ  ที่สำคัญคือการค้ากับจีนภายใต้การค้าในระบบบรรณาการ  ที่จีนถือว่าไทยเป็นเมืองขึ้นของจีน  แต่อยุธยาเห็นว่าเป็นประโยชน์ทางการค้า  เพราะทุกครั้งที่เรือของอยุธยาเดินทางไปค้าขายกับจีนจะนำ  "ของขวัญ"  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากป่า  เช่น  นกยูง  งาช้าง  สัตว์แปลกๆ  กฤษณา  กำยาน  เป็นต้น  เป็นเครื่องราชบรรณาการไปถวายให้จักรพรรดิจีน  ซึ่งจีนจะมอบของตอบแทน  เช่น  ผ้าไหม  เครื่องลายคราม  ซึ่งเป็นสินค้าราคาแพงเป็นการตอบแทน  เรือสินค้าที่นำสินค้าไปค้าขายก็จะถูกละเว้นภาษีและได้รับการอนุญาตให้ค้าขายกับหัวเมืองต่างๆ ของจีนได้ นอกจากนี้อยุธยายังค้าขายกับหัวเมืองมลายู  ชวา  อินเดีย  ฟิลิปปินส์  เปอร์เซีย  และลังกา  การค้าส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยพระมหากษัตริย์  เจ้านาย และขุนนาง  มีการค้าเอกชนบ้างโดยพวกพ่อค้าชาวจีนดำเนินการ  ลักษณะการค้ากับต่างประเทศในสมัยอยุธยาตอนต้นยังเป็นการค้าแบบเสรี  พ่อค้าต่างชาติยังสามารถค้าขายกับราษฎรได้โดยตรงไม่ต้องผ่านหน่วยงานของรัฐบาล  แต่ก็มีลักษณะการผูกขาดโดยทางอ้อมในระบบมูลนาย


  •                  หลังรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2034-2072)  การค้ากับต่างประเทศได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น  เพราะอยุธยาเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตก  เริ่มตั้งแต่ชาติโปรตุเกสใน พ.ศ. 2054  ต่อมาใน พ.ศ. 2059  อยุธยาได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีทางการค้ากับโปรตุเกส  เป็นฉบับแรกที่อยุธยาทำกับประเทศตะวันตก  จากนั้นก็มีชาติฮอลันดา (พ.ศ. 2142)  สเปน (พ.ศ. 2141)  อังกฤษ  ในรูปบริษัทอินเดียตะวันออก  บริษัทการค้าของฮอลันดา  เรียกว่า  V.O.C.  ส่วนบริษัทการค้าของอังกฤษ  เรียกว่า  E.J.C.  และฝรั่งเศสในสมัยพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231)


  •  การค้ากับต่างประเทศเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091-2111)  มีการตรากฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับการค้าและจัดระบบผูกขาดทางการค้าให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น คือ  มีการกำหนดสินค้าต้องห้าม  ซึ่งเป็นสินค้าที่รัฐบาลโดยพระคลังสินค้าเท่านั้นที่จะผูกขาดซื้อขาย  สินค้าขาเข้า  ได้แก่  ปืนไฟ  กระสุนดินดำ  และกำมะถัน  ส่วนสินค้าขาออก  ได้แก่  นอระมาด  งาช้าง  ไม้กฤษณา  ไม้จันทร์  ไม้หอม  และไม้ฝาง  ซึ่งต่อมาการค้าผูกขาดของรัฐ ได้เข้มข้นมากขึ้น  สินค้าบางประเภท  เช่น  ถ้วยชาม  ผ้าแดง  ซึ่งเป็นสินค้าในชีวิตประจำวันก็เป็นสินค้าผูกขาดด้วยและมีการจัดตั้ง "พระคลังสินค้า"  ให้รับผิดชอบดูแลการค้าผูกขาดของรัฐบาล  พระคลังสินค้าจึงเป็นหน่วยงานสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทยในสมัยอยุธยาสืบต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปลายสมัยอยุธยา "ข้าว" ได้กลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญแทนที่สินค้าจากป่า  เนื่องจากเกิดทุพภิกขภัยอย่างรุนแรงในประเทศจีน  ชาวจีนจึงขอให้พ่อค้าอยุธยานำข้าวไปขายให้จีนโดยลดภาษีให้  นอกจากนี้อยุธยายังขายข้าวให้ฮอลันดา  ฝรั่งเศส  หัวเมืองมลายู  มะละกา  ชวา  ปัตตาเวีย  ญวน  เขมร  มะละกา  ลังกา  และญี่ปุ่น การค้ากับต่างประเทศจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจอยุธยา  ซึ่งนำความมั่งคั่งให้กลุ่มผู้ปกครอง ได้แก่  พระมหากษัตริย์  เจ้านาย  และขุนนางอย่างมหาศาล 


3.  รายได้ของอยุธยา

           1) รายได้ในระบบมูลนาย  แรงงานจากไพร่ถือเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญ  รัฐบาลได้เกณฑ์      แรงงานจากไพร่ในระบบเข้าเดือนออกเดือน  หรือปีละ 6 เดือน  มาทำงานให้รัฐ  เช่น  การสร้างกำแพงเมือง  ขุดคลอง   สร้างวัด  สร้างถนน เป็นต้น  ไพร่ที่ไม่ต้องการทำงานให้รัฐก็สามารถจ่ายสิ่งของที่รัฐต้องการ  เช่น  มูลค้างคาว  สินค้าป่า  เรียกว่า  "ส่วย" แทนการเกณฑ์แรงงานได้ ส่วยเหล่านี้รัฐจะนำไปเป็นสินค้าขายยังต่างประเทศต่อไป

          2) รายได้จากภาษีอากร ภาษีอากรในสมัยอยุธยา มีดังนี้      

- ส่วย  คือ  สิ่งของหรือเงินที่ไพร่หลวงจ่ายให้รัฐทดแทนการถูกเกณฑ์มาทำงาน  โดยรัฐจะเป็นผู้กำหนดว่าท้องถิ่นใดจะส่งส่วยประเภทใด  เช่น  ส่วยดีบุก  ส่วยรังนก  ส่วยไม้ฝาง  ส่วยนอแรด  ส่วยมูลค้างคาว  เป็นต้น

  • - อากร  คือ  เงินที่เก็บจากผลประโยชน์ที่ราษฎรประกอบอาชีพได้  เช่น  การทำนา  จะเสียอากรค่านา เรียกว่า  "หางข้าว" ให้แก่รัฐ เพื่อรัฐจะได้เก็บไว้เป็นเสบียงอาหารสำหรับกองทัพ ผู้ที่ทำสวนเสียอากรค่าสวนซึ่งคิดตามประเภทและจำนวนต้นไม้แต่ละชนิด นอกจากนี้ยังรวมถึงการได้รับสิทธิจากรัฐบาลในการประกอบอาชีพ เช่น การอนุญาตให้ขุดแร่ การอนุญาตให้เก็บของป่า การอนุญาตให้จับปลาในน้ำ การอนุญาตให้ต้มกลั่นสุรา เป็นต้น


  • - จังกอบ  คือ  ค่าผ่านด่านขนอนทั้งทางบกและทางน้ำ  โดยเรียกเก็บตามยานพาหนะที่บรรทุกสินค้า เช่น  เรือสินค้าจะเก็บตามความกว้างของปากเรือตามอัตราที่กำหนด  จึงเรียกว่า  ภาษีปากเรือ  ส่วนพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่นมักเก็บในอัตราสิบชักหนึ่ง- ฤชา  คือ  เงินที่รัฐเรียกเก็บจากการให้บริการจากราษฎร  เช่น  การออกโฉนด  หรือเงินปรับไหมที่ผู้แพ้คดีต้องจ่ายให้ผู้ชนะ  เงินค่าธรรมเนียมนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  "เงินพินัยหลวง"


         3) รายได้จากต่างประเทศ ได้แก่ ผลกำไรจากการค้าเรือสำเภา ภาษีสินค้าขาเข้าและสินค้าขาออก สิ่งของที่ได้รับพระราชทานจากจักรพรรดิจีน บรรณาการจากต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยา

หน่วยการเรียนรู้ที่3

ความสัมพันธ์กับดินแดนใกล้เคียง



            สุโขทัย ล้านนา (เชียงใหม่) มอญ พม่า ล้านช้าง (ลาว) เขมร และมลายูความสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัย  ซึ่งถูกรวมเป็นอันเดียวกับอยุธยาตั้งแต่ ปี 2006 เป็นต้นมาโดยตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองก่อตั้งอยุธยาก็ดำเนินนโยบายแผ่ขยายอำนาจเข้าสู่สุโขทัย  โดยเข้ายึดเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นของสุโขทัยไว้ พระมหาธรรมราชาที่ 1 แห่งสุโขทัยได้ส่งเครื่องบรรณาการมาทูลขอคืนจึงคืนให้และเท่ากับว่า สุโขทัยได้ยอมอยู่ใต้อำนาจอยุธยาตั้งแต่นั้นมาก และสมัยพระอินทราชาได้ทูลขอธิดา พระมหาธรรมราชาที่ 2 ให้สมรสกับเจ้าสามพระยา (พระโอรส)   ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็น การสร้างสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างสองอาณาจักรด้วยความสัมพันธ์กับสุโขทัยสิ้นสุดลงเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ   ไปประทับที่พิษณุโลก สุโขทัยก็ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยาโดยสิ้นเชิง

ความสัมพันธ์กับล้านนา (เชียงใหม่)

           หลังจากที่ได้สุโขทัยไว้ในครอบครองแล้ว อยุธยาก็รุกต่อขึ้นเหนือหวังยึดครองล้านนา แต่ยกไปตีหลาย ครั้งไม่สำเร็จ ระยะหลังเกิดสงครามเพราะสุโขทัยไปยอมอ่อนน้อมต่อล้านนา ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ของ ล้านนา เพื่อหวังให้ล้านนาช่วยรบกับอยุธยา แต่ในที่สุดสมัยพระไชยราชาธิราชล้านนาก็ตกเป็นของอยุธยา

ความสัมพันธ์กับมอญ

           อาณาจักรมอญส่วนใหญ่จะเป็นรัฐกันชนระหว่างพม่ากับอยุธยา ส่วนใหญ่พม่าจะยึดครองมากกว่าไทยเหตุผลของความสัมพันธ์ กับมอญเพราะอยุธยาต้องการครอบครองหัวเมืองชายฝั่งที่เป็นเมืองท่าเพื่อติดต่อค้าขายกับต่างชาติ เช่น เมือง ทวาย มะริด และตะนาวศรี เป็นต้นมอญเคยตกเป็นของไทยสมัยพระนเรศวร เท่านั้น นอกนั้น ตกเป็นของพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2081 เป็นต้นมา

ความสัมพันธ์กับพม่า

           ความสัมพันธ์ไทยกับพม่าสมัยอยุธยาเป็นไปในรูปของสงครามโดยตลอดเพื่อแย่งชิงการปกครองเมือง ประเทศราช ส่วนปัจจัยทางเศรษฐกิจ เป็นไปเพื่อแย่งชิงเมืองท่าในเขต อ่าวเบงกอล ของมอญด้วยสาเหตุที่พม่ามีแผ่นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ จึงต้องขยายอาณาเขตออกมาทางมอญ และล้านนา ซึ่งมีพรมแดน ติดอยุธยา ดังนั้นมอญจึงเป็นรัฐกันชน เมื่อพม่าได้มอญกับล้านนาแล้วก็มักแผ่อำนาจมายังอยุธยาเสมอ

ความสัมพันธ์กับล้านช้าง (ลาว) ล้านช้า

          เป็นมิตรที่แสนดีกับไทยสมัยอยุธยามาตลอดแม้เวลาเราติดศึกพม่าก็ส่งทัพมาช่วยรบมีความสัมพันธ์ ทางเครือญาติเช่นสมัยพระเจ้าอู่ทองได้พระราชทานพระแก้วฟ้า แก่พระเจ้าสามแสนไทย สมัยสมเด็จ พระจักรพรรดิก็ได้ร่วมกันสร้างอนุสรณ์ความร่วมมือที่ดีต่อกัน คือพระธาตุศรีสองรักที่จังหวัดเลย และ พระราชทานธิดาพระนางเทพกษัตรีแก่พระเจ้าไชยเชษฐาแต่ถูกพม่าชิงตัวไปก่อน

ความสัมพันธ์กับเขมร

         เป็นไปในลักษณะการรับวัฒนธรรมประเพณี เช่นการปกครองรูปแบบสมมุติเทพ และวัฒนธรรมประเพณี ในฐานะเป็นเมืองประเทศราชของไทย บางครั้งเขมรก็แยกเป็นอิสระหรือไปหันไปพึ่งญวณและมักมาโจมตี ไทยเวลาอยุธยามีศึกกับพม่าสมัยเจ้าสามพระยาของอยุธยาทรงยกทัพไปยึดพระนครของเขมร เขมรต้องย้าย เมืองหลวงไปอยู่ป่าสานและพนมเปญปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของเขมรกับไทยมีทั้งด้านการเมืองและศิลปวัฒนธรรมในด้านการเมือง

 ความสัมพันธ์กับมลายู

           จะเป็นไปในรูปของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพราะช่องแคบมะละกาเป็นทางผ่านที่จะไปสู่อินเดียและจีน อยุธยาจึงต้องการครอบครอง จึงขยายอำนาจทางทหารไปครอบครอง โดยปรากฏหลักฐานว่าอยุธยายกทัพ ไปโจมตีหลายครั้ง จนถึงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ. 2054 โปรตุเกสยึดมะละกาได้ ส่วนหัวเมืองมลายูอื่นๆ ยังเป็นของอยุธยา จนถึงปี พ.ศ.2310 อยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2

 สรุป

           ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการขยายเขตแดนและเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้า

           ดังนั้นจึงไม่พ้นการทำสงคราม โดยเฉพาะกับพม่าซึ่งเรามักเป็น ฝ่ายตั้งรับมากกว่าการยกทัพไปรุกราน อยุธยาต้องเสียกรุงแก่พม่าถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก ปี พ.ศ. 2112 สมัยพระมหินทราธิราช ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 สมัยพระเจ้าเอกทัศน์

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หน่วยการเรียนรู้ที่2

การสถาปนากรุงศรีอยุธยา
     ในการศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้เราทราบว่าบรรพบุรุษของไทยเป็นผู้สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน  และในช่วงเวลาที่อาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง  อาณาจักรอยุธยาก็สถาปนาขึ้น  และดำรงอยู่เป็นราชธานีตลอดระยะเวลา 417 ปี  จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียอิสรภาพให้แก่พม่า  ในปี พ.ศ. 2310 แล้ว  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้กอบกู้เอกราชของไทยคืนมา  และสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งใหม่  อาณาจักรธนบุรีดำรงอยู่มาได้ 15 ปี  ก็สิ้นสุดแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ต่อมาในปี พ.ศ. 2325  สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงสถาปนาพระราชวงศ์จักรีขึ้นปกครองแผ่นดินและตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่ของไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้
     อาณาจักรอยุธยาสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1893  และดำรงความเป็นอาณาจักรไว้ได้นานถึง 417 ปี  ย่อมต้องมีรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่เข้มแข็งพอสมควร  ดังนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยาจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยเป็นอย่างยิ่ง
          1.  ผู้ก่อตั้งอาณาจักรอยุธย  ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะเสด็จมาสร้างกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พศ. 1893  ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าพระองค์มีเชื้อสายมาจากราชวงศ์ใด  และมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เมืองใด  แต่มีข้อสันนิษฐานว่า  พระเจ้าอู่ทองสืบเชื้อสายมาจากทางเหนือ  ตอนบนของแม่น้ำเจ้าพระยา  ก่อนที่จะอพยพมาสร้างกรุงศรีอยุธยา
               ส่วนความคิดเห็นหนึ่งก็ว่า  พระเจ้าอู่ทองอยู่ที่เมืองอโยธยา  และทรงอพยพไพร่พลหนีโรคระบาดข้ามฝั่งแม่น้ำมาสร้างกรุงศรีอยุธยา
               นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปว่า  พระเจ้าอู่ทองซึ่งเป็นฝ่ายละโว้ได้อภิเษกสมรสกับพระราชธิดาของกษัตริย์แห่งสุพรรณภูมิ  เพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่จะสร้างความมั่นคงให้กับอาณาจักร
               ต่อมาเมื่อเมืองอู่ทองเกิดโรคระบาด  เกิดภัยธรรมชาติ  ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก  พระเจ้าอู่ทองจึงอพยพผู้คนไปยังทำเลที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์  (เชื่อกันว่าเป็นบริเวณที่เป็นวัดพุทไธสวรรย์ในปัจจุบัน)  ทรงสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณหนองโสนหรือบึงพระราม  แล้วสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในปี พ.ศ. 1893  ทรงพระราชทานนามพระนครว่า  "กรุงเทพทวารวดี ศรีอยุธยา"  พระเจ้าอู่ทองเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์ต้นราชวงศ์อู่ทอง  ทรงพระนามว่า  "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1"
          2.  ที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยา   กรุงศรีอยุธยามีที่ตั้งที่เหมาะสม  เนื่องจากมีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านถึง 3 สาย  ได้แก่
                    แม่น้ำลพบุรี      ไหลจากทางทิศเหนืออ้อมไปทางทิศตะวันตก
                    แม่น้ำป่าสัก      ไหลผ่านจากทิศตะวันออก
                    แม่น้ำเจ้าพระยา  ไหลจากทิศตะวันตกอ้อมไปทางทิศใต้
               แม่น้ำทั้ง 3 สายนี้  ไหลมาบรรจบกันล้อมรอบราชธานี  ทำให้กรุงศรีอยุธยามีลักษณะเป็นเกาะที่มีสัณฐานคล้ายเรือสำเภา  คนทั่วไปจึงเรียกอยุธยาว่า  "เกาะเมือง"  อยุธยามีทำเลทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับการเป็นราชธานี  ดังนี้
                    1.  เป็นที่มีความอุดมสมบูรณ์  เหมาะแก่การเพาะปลูก
                    2.  สะดวกแก่การคมนาคม  เพราะตั้งอยู่ในเส้นทางค้าขาย  ติดต่อกับหัวเมืองอื่น ๆ รวมทั้งสามารถติดต่อค้าขายกับต่างประเทศทางทะเลได้สะดวก  เพราะตั้งอยู่ตรงที่แม่น้ำใหญ่หลายสายไหลมาบรรจบกัน  รวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาไหลออกอ่าวไทย  เรือเดินทะเลสามารถแล่นจากปากแม่น้ำเข้ามาทอดสมอได้ถึงหน้าเมือง  ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นชุมทางการค้าขายที่สำคัญ
                    3.  มีความเหมาะสมด้านยุทธศาสตร์  กล่าวคือ  เมื่อมีข้าศึกยกทัพมาตี  ข้าศึกจะสามารถตั้งค่ายล้อมเมืองได้ถึงฤดูแล้งเท่านั้น  เพราะเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก  น้ำจะหลากท่วมขังบริเวณรอบตัวเมือง  ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการที่ข้าศึกจะยกทัพเข้าโจมตีและทำให้ขาดแคลนเสบียงอาหาร  ข้าศึกจึงต้องถอยทัพกลับไป
               สภาพทำเลที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาที่มีความเหมาะสมดังกล่าว  ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นนครราชธานีอันยิ่งใหญ่ของชาติไทยมายาวนานตลอด 417 ปี (พ.ศ. 1893 - 2310)  และมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์อย่างเห็นได้ชัดทั้งทางด้านการเมืองการปกครอง  เศรษฐกิจ  สังคม  และศิลปวัฒนธรรม
          3.  รายพระนามพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา  ตลอดระยะเวลา 417 ปี  ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทย  ได้มีพระมหากษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมา 5 ราชวงศ์  รวมทั้งสิ้น 33 พระองค์
               1.  พระราชวงศ์อู่ทอง
                    -  สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระจ้าอู่ทอง)  ครองราชย์ พ.ศ. 1893 - 1912
                    -  สมเด็จพระราเมศวร  ครองราชย์ พ.ศ. 1912 - 1913  และ พ.ศ. 1931 - 1938
                    -  สมเด็จพระรามราชาธิราช  ครองราชย์  พ.ศ. 1938 - 1952
               2.  สุพรรณภูมิ
                    -  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพ่องั่ว)  ครองราชย์  พ.ศ. 1913 - 1931
                    -  สมเด็จพระเจ้าทองลัน  (ทองจันทร์)  ครองราชย์  พ.ศ. 1931 - 1931
                    -  สมเด็จพระอินทราธิราช (เจ้านครอินทร์)  ครองราชย์  พ.ศ. 1952 - 1967
                    -  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2  (เจ้าสามพระยา)  ครองราชย์  พ.ศ. 1967 - 1991
                    -  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ครองราชย์  พ.ศ. 1991 - 2031
                    -  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3  ครองราชย์  พ.ศ. 2031 - 2034
                    -  สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2  ครองราชย์  พ.ศ. 2034 - 2072
                    -  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4  (หน่อพุทธางกูรหรือพระอาทิตยวงศ์)  ครองราชย์  พ.ศ. 2072 - 2076
                    -  สมเด็จาพระรัษฎาธิราชราชกุมาร  ครองราชย์  พ.ศ. 2076 - 2077
                    -  สมเด็จพระไขยราชาธิราช  ครองราชย์  พ.ศ. 2077 - 2089
                    -  สมเด็จพระยอดฟ้า (พระแก้วฟ้า)  ครองราชย์  พ.ศ. 2089 - 2091
                    -  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  ครองราชย์  พ.ศ. 2091 - 2111
                    -  สมเด็จพระมหินทราธิราช  ครองราชย์  พ.ศ. 2111 - 2112
               3.  สุโขทัย
                    -  สมเด็จพระมหาธรรมราชา  ครองราชย์  พ.ศ. 2112 - 2133
                    -  สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ครองราชย์  พ.ศ. 2133 - 2148
                    -  สมเด็จพระเอกาทศรถ  ครองราชย์  พ.ศ. 2148 - 2163
                    -  สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์  ครองราชย์  พ.ศ. 2163 - 2163
                    -  สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม  ครองราชย์  พ.ศ. 2163 - 2173
                    -  สมเด็จพระเชษฐาธิราช  ครองราชย์  พ.ศ. 2171 - 2173
                    -  สมเด็จพระอาทิตยวงศ์  ครองราชย์  พ.ศ.  2173 - 2173
               4.  ปราสาททอง
                    -  สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง  ครองราชย์  พ.ศ. 2173 - 2198
                    -  สมเด็จเจ้าฟ้าไชย  ครองราชย์  พ.ศ. 2198 - 2199
                    -  สมเด็จพระสุธรรมราชา  ครองราชย์  พ.ศ. 2199 - 2199
                    -  สมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ครองราชย์  พ.ศ. 2199 - 2231
               5.  บ้านพลูหลวง
                    -  สมเด็จพระเพทราชา  ครองราชย์  พ.ศ. 2231 - 2245
                    -  สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ)  ครองราชย์  พ.ศ. 2245 - 2252
                    -  สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (พระเจ้าท้ายสระ)  ครองราชย์  พ.ศ. 2252 - 2275
                    -  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ครองราชย์  พ.ศ. 2275 - 2301
                    -  สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด)  ครองราชย์  พ.ศ. 2301 - 2301
                    -  สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ)  ครองราชย์  พ.ศ. 2301 - 2310